ครม. มีมติเห็นชอบแผนรับมือโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรเป็นวาระแห่งชาติ
pic01

เขียนโดย คุณสุวรรณี กาญจนภูสิต

ครม. เห็นชอบแผนเตรียมความพร้อมรับมือโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรของประเทศไทยเป็นวาระแห่งชาติตามที่กระทรวงเกษตรฯ เสนอแล้ว ล่าสุดระบาดจากจีน สู่เวียดนาม เข้ากัมพูชา โรคนี้เป็นโรคติดต่อร้ายแรงในสุกร หากติดเชื้อไวรัสพาหะ อัตราการตายของสุกรเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ จึงต้องเตรียมพร้อมเต็มที่ป้องกันความเสียหายต่อเกษตรกรที่เลี้ยงสุกร รวมถึงอุตสาหกรรมต่อเนื่องมูลค่ากว่า 100,000 ล้านบาท

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า ได้นำเสนอให้ครม. พิจารณาเรื่องดังกล่าว เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever : ASF) แพร่ระบาดขยายเป็นวงกว้างขึ้น โดยตั้งแต่ปี 2561 ถึงปัจจุบัน พบการระบาดใน 17 ประเทศได้แก่ ทวีปยุโรป 10 ประเทศ ทวีปแอฟริกา 4 ประเทศ และทวีปเอเชีย 4 ประเทศ โดยในทวีปเอเซียมีรายงานการระบาดครั้งแรกที่สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 61 ต่อมาพบที่ประเทศมองโกเลีย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ล่าสุดพบในราชอาณาจักรกัมพูชาแล้ว มีรายงานการทำลายสุกรในจีน 950,000 ตัว มองโกเลีย 2,992 ตัว เวียดนาม 46,600 ตัว ส่วนที่กัมพูชาเพิ่งพบการติดเชื้อ ประมาณการความเสียหายเบื้องต้นมูลค่ารวม 6,000 ล้านบาท

นายกฤษฎากล่าวว่า สถานการณ์การระบาดของโรค ASF ยังไม่สามารถควบคุมได้ ในจีนพบ 113 ครั้งใน 28 จังหวัด มองโกเลีย 10 ครั้งใน 6 จังหวัด เวียดนาม 221 ครั้งใน 17 จังหวัด และกัมพูชา 1 ครั้งใน 1 จังหวัด จึงมีความเสี่ยงสูงที่จะระบาดเข้าสู่ไทยได้ทั้งจากการลักลอบนำผลิตภัณฑ์สุกรติดตัวของนักท่องเที่ยว ซึ่งกรมปศุสัตว์ได้เข้มงวดจับกุมการลักลอบเคลื่อนย้ายสุกร ซากสุกร และผลิตภัณฑ์สุกรที่นักท่องเที่ยวนำมาบริโภคอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่มีการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรที่จีนตรวจยึดการลักลอบเคลื่อนย้ายผลิตภัณฑ์จากสุกร 269 ครั้ง และผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีการปนเปื้อนสารพันธุกรรมเชื้อไวรัสนี้ 49 ตัวอย่าง ล่าสุดพบการลักลอบนำผลิตภัณฑ์สุกรและซากสุกรผ่านช่องทางนำเข้าชายแดนที่มีระยะทางยาว อีกทั้งยังมีความเสี่ยงจากการปนเปื้อนของเชื้อไวรัสจากตัวเกษตรกรหรือสัตวแพทย์ที่ไปดูงานในประเทศที่มีการระบาดของโรค การปนเปื้อนเชื้อไวรัสที่ยานพาหนะ วัสดุ อุปกรณ์ที่ใช้ส่งออกสุกรและอาหารสุกรไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

นายกฤษฎากล่าวต่อว่า โรค ASF แม้ไม่ได้เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน แต่เป็นโรคระบาดร้ายแรงในสุกร ยังไม่มีวัคซีนป้องกันและควบคุมโรค เชื้อโรคทนทานในผลิตภัณฑ์จากสุกรและสิ่งแวดล้อมสูง สุกรที่หายป่วยแล้วจะเป็นพาหะของโรคได้ตลอดชีวิต สุกรที่ติดเชื้อมีการตายเฉียบพลันเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้แผนเตรียมความพร้อมดังกล่าวได้เชิญผู้เกี่ยวข้องมาจัดทำทั้งภาคเอกชน นักวิชาการจากมหาวิทยาลัย สัตวแพทยสภา สมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกรไทย สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ซึ่งเห็นพ้องว่า ควรจัดให้มีคณะกรรมการอำนวยการป้องกัน ควบคุมและกำจัดโรค โดยมีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นกรรมการและเลขานุการ และอธิบดีกรมปศุสัตว์เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ โดยคณะกรรมการประกอบไปด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคสหกรณ์ผู้เลี้ยงสัตว์ และภาคเอกชน ในระยะเผชิญเหตุการระบาด การตอบสนองในภาวะฉุกเฉินเมื่อมีการระบาด โดยมีมาตรการควบคุมโรคที่มีประสิทธิภาพ ส่วนระยะภายหลังเผชิญเหตุการระบาดนั้นสามารถฟื้นฟูเพื่อปรับสภาพความเป็นอยู่ของเกษตรกรและผู้ที่ได้รับผลกระทบให้กลับสู่สภาวะปกติหรือพัฒนาให้ดีกว่าและปลอดภัยกว่าเดิม ลดปัญหาการเกิดโรคอุบัติซ้ำ

ครม. อนุมัติแผนใช้จ่ายงบประมาณในการดำเนินงานเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรควงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 148,542,900 บาท โดยปีงบประมาณ 62 เป็นเงิน 53,604,900 บาท ใช้งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ในปีงบประมาณ 63 เป็นเงิน 52,419,000 บาท และปีงบประมาณ 64 เป็นเงิน 42,519,000 บาท โดยดำเนินการระยะเร่งด่วนในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรค สำหรับระยะยาวให้ยกระดับมาตรการการควบคุมป้องกันโรคให้มีมาตรฐานสากล โดยจัดสร้างโรงทำลายซากสัตว์ติดเชื้อ เนื่องจากเชื้อ ASF คงทนในสภาพแวดล้อมสูง อีกทั้งหากทำลายโดยการฝังจะต้องใช้พื้นที่จำนวนมากและการดำเนินการทำลายเป็นไปด้วยความยากลำบาก มีโอกาสที่เชื้อจะตกค้างและแพร่กระจายในสิ่งแวดล้อม หรือหากทำลายโดยวิธีการเผาจะก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม จึงจำเป็นต้องมีวิธีการกำจัดซากที่ติดเชื้ออย่างเหมาะสมเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาข้างต้น

ประเทศไทยมีเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร 210,978 ราย เป็นเกษตรกรรายย่อย 208,192 ราย เลี้ยงสุกรขุน 80,000 ตัว สุกรพันธุ์ 63,000 ตัว ลูกสุกร 733,000 ตัว เป็นเกษตรกรรายใหญ่ 2,758 ราย เลี้ยงสุกรขุน 8,800,000 ตัว สุกรพันธุ์ 1,137,000 ตัว และลูกสุกร 4,670,000 ตัว ดังนั้นหากเกิดการระบาดของโรคแล้วทำลายสุกร กรณีเกิดโรคร้อยละ 30 ของสุกรที่เลี้ยง เสียหายรวม 21,168,000,000 บาท กรณีเกิดโรคร้อยละ 50 ของสุกรที่เลี้ยง เสียหายรวม 35,280,000,000 บาท หากเกิดโรคร้อยละ 80​ของสุกรที่เลี้ยงเสียหายรวม 56,448,000,000 บาท และถ้าเกิดการระบาดทั้งหมดจะเสียหายรวม 70,560,000,000 บาท รวมถึงผลกระทบต่อการส่งออกเนื้อสุกรชำแหละ เนื้อสุกรแปรรูป เนื้อสุกรมีชีวิต ด้านธุรกิจอาหารสัตว์ ด้านธุรกิจเวชภัณฑ์อีกมหาศาล รวมถึงค่าใช้จ่ายในการพื้นฟูอาชีพและความเป็นอยู่เกษตรกรเป็นจำนวนมากและใช้ระยะเวลาในการฟื้นฟูเป็นเวลานาน

“หากประเทศไทยมีระบบการป้องกันโรคที่ดี รวมทั้งระบบการทำลายสุกรที่เป็นโรคและซากสัตว์ที่เป็นพาหะของโรคระบาดเป็นไปตามมาตรฐานสากล สามารถป้องกันไม่ให้เกิดโรคในประเทศได้ จะเป็นโอกาสทางธุรกิจเนื่องจากความต้องการสุกรของจีน เวียดนาม และกัมพูชา เพิ่มสูงขึ้น จากเดิมก่อนเกิดโรคราคาสุกรมีชีวิตของประเทศไทยกิโลกรัมละ 60 บาท ภายหลังเกิดโรคคาดการณ์ว่า จะทำให้ราคาสุกรในประเทศมีราคาเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 80 บาท เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น 44,000 ล้านบาทต่อปี ดังนั้นการยกระดับแผนเตรียมพร้อมรับมือโรค ASF เป็นวาระแห่งชาติจึงส่งผลดีทั้งการป้องกันโรค การเผชิญเหตุ การฟื้นฟู ตลอดจนการเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจจากการส่งออกสุกรไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่ขาดแคลนสุกร” นายกฤษฎากล่าว